You are currently viewing การใช้สารละลายในน้ำหอม

การใช้สารละลายในน้ำหอม

การใช้สารละลายในน้ำหอม

การใช้ solvent (ตัวทำละลาย) ในน้ำหอม
ตัวทำละลายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่นักปรุงน้ำหอมหยิบมาใช้อยู่บ่อยครั้ง โดยที่ปกติแล้วจะเป็นตัวทำละลายที่มีกลิ่นน้อยหรือไม่มีกลิ่น และอาจจะมี character หรือช่วยเพิ่มลักษณะกลิ่นอะไรบางอย่างให้กับน้ำหอมที่ทำอยู่
 
ในความเป็นจริงแล้วตัวทำละลายจำเป็นหรือไม่? ประโยชน์ของตัวทำละลายในน้ำหอมมีดังต่อไปนี้
 
1. ใช้ลดความรุนแรงของวัตถุดิบที่กลิ่นแรงมาก ๆ (high-impact raw material) เพื่อความสะดวก สามารถทำละลายเป็น 10% 1% 0.1% 0.01% ทำให้ควบคุมกลิ่นวัตถุดิบได้ง่าย หรือของบางอย่างไม่สามารถทำละลายได้ถึง 10% เช่น maltol, ethyl maltol ทำละลายใน DPG (dipropylene glycol) ไ้ด้ไม่ถึง 10% อาจจะทำละลายไว้ที่ 5%, 1% ก็ได้
2. ใช้เพื่อเพิ่มวัตถุดิบบางอย่างในปริมาณน้อยมาก ๆ ในสูตร (ขึ้นอยู่กับการออกแบบสูตร) เพราะสูตรส่วนใหญ่จะมีวัตถุดิบที่ใช้ในระดับ 0.1% หรือ 0.01% (หรือต่ำกว่า) ประกอบอยู่ด้วย
3. ใช้ลดต้นทุนสำหรับวัตถุดิบที่ราคาสูงมาก ๆ
4. ทำให้ผสมวัตถุดิบที่เหนียวมาก ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น กำยาน benzoin resinoid, กำยาน frankincense (olibanum resinoid), oakmoss resinoid รวมไปถึงสารสังเคราะห์ที่เหนียวมาก ๆ เช่น Sandela ที่ทำละลายมาให้แล้วใน IPM (isopropyl myristate) คือ Sandela 85 (ทำละลายมา 85%) และ Sandela 50 (ทำละลายมา 50%) ซึ่งทำให้ผู้ผสมน้ำหอม (compounder) ทำงานง่ายขึ้น
5. ช่วยเก็บรักษาวัตถุดิบที่ไม่เสถียร ทำปฏิกิริยากันเอง (auto-oxidation) หรือทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ (oxidation) ได้ง่าย เช่น การเก็บสารประเภท aldehyde เช่น aldehyde C-12 lauric (dodecanal) เมื่อเก็บไว้ 10% ใน DPG ช่วยให้เสื่อมสภาพช้าลงมาก เพราะเกิด oxidation ช้าลง
6. ช่วยลดความระคายเคืองของวัตถุดิบบางอย่าง หรือวัตถุดิบที่อันตราย เช่น phenylacetaldehyde สามารถทำละลายไว้ใน DPG, สาร diacetyl ถ้าโดนความร้อนจะเกิดไอที่ทำลายปอดได้ สามารถทำละลาย 1% ใน DPG ได้เพื่อลดความอันตราย
7. ใช้ในการสกัดกลิ่นจากวัตถุดิบโดยต้องการผลของการบ่ม (maturation) ด้วย เช่นการทำทิงเจอร์ (tincture) โดยการแช่วัตถุดิบไว้กับ เอทานอล (ethanol, ethyl alcohol) เช่น วัตถุดิบจากสัตว์, tincture วัตถุดิบจากพืชต่าง ๆ โดยที่การบ่มไว้กับ ethanol มีผลให้กลิ่นเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
 
จะเห็นได้หว่า หลาย ๆ ประโยชน์ของตัวทำละลาย ช่วยให้ผู้ผสมน้ำหอม (compounder) ทำงานสะดวกขึ้น เช่น เทง่าย, ปลอดภัยขึ้น, ชั่งตวงง่ายขึ้น, ผสมง่ายขึ้น, ควบคุมกลิ่นได้ เป็นต้น
 
ตัวทำละลายสำคัญ ๆ ในวงการน้ำหอมมีดังนี้
 
1. DPG (dipropylene glycol) เป็นตัวทำละลายที่ได้รับความนิยม สามารถละลายทั้งได้ทั้งในน้ำมันและน้ำ ความเป็นพิษต่ำ แต่มีกลิ่น ดังนั้นเวลาเลือกซื้อให้หามาใช้ชนิดที่มีกลิ่นน้อย ๆ เข้าไว้ ไม่เหมาะสำหรับการใช้ทำเทียน
2. TEC (triethyl citrate) ใช้ช่วยทำละลายวัตถุดิบละลายยากหลาย ๆ อย่างได้ มีกลิ่นคล้าย ผลไม้/ไวน์ อ่อน ๆ
3. PG (propylene glycol) ใช้เป็นตัวทำละลายของ สารแต่งรสอาหาร (flavoring) เวลาโดนผิวแล้วจะรู้สึกร้อน ๆ ที่ผิว และรู้สึกเหนอะหนะที่ผิว และสารตัวนี้ก็ยังดึงดูดน้ำด้วย จึงไม่ควรใช้เยอะในน้ำหอม (ไม่ต้องการให้น้ำหอมดึงดูดน้ำจากอากาศเข้าไปมาก ๆ)
4. BB (benzyl benzoate) ทำละลายน้ำมัน และยางไม้เหนียว ๆ ได้ดี รวมไปถึง benzoin, oakmoss, galbanum ตัวมันเองมีกลิ่น balsamic ด้วย ทำให้อาจจะไม่เหมาะกับน้ำหอมบางกลิ่น ใช้เป็นตัวทำละลายในเทียนได้ดี
5. IPM (isopropyl myristate) เป็นตัวทำละลายที่ทำให้รู้สึกผิวนวลนุ่ม ลื่น ช่วยทำละลายวัตถุดิบได้หลายอย่าง รวมไปถึงวัตถุดิบบางอย่างที่อาจจะทำละลายยาก ๆ ใน DPG แต่เป็นสารที่ซึมเข้าไปในผิวได้ ดังนั้นน้ำหอมที่ใช้ไม่ควรจะมีสารที่มีความระคายเคืองสูง เพราะ IPM สามารถทำให้สารเหล่านั้นซึมเข้าไปในผิวได้ สามารถใช้เป็นตัวทำละลายน้ำหอมในกรณีที่ไม่ต้องการใช้ ethanol ได้้เช่น สำหรับผู้ใช้ที่เป็นอิสลามที่หลีกเลี่ยงการใช้ ethanol
6. DEP (diethyl pthalate) ตัวทำละลายหนึ่งที่ใช้มานานในวงการน้ำหอม แต่หลายที่ (เช่น ญี่ปุ่น) ไม่อนุญาตแล้ว มีความเป็นพิษ ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ (ไปใช้ตัวอื่นแทน เช่น DPG) สารนี้ไปกดกลิ่น top note ของน้ำหอมได้อีกด้วย
 
การใช้ตัวทำละลายแต่ละอย่าง สามารถใช้ร่วมกันเพื่อให้วัตถุดิบต่าง ๆ (รวมไปถึง ethanol และ น้ำ) สามารถละลายเข้ากันรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ ไม่ตกตะกอน/ตกผลึก ไม่ขุ่น เรียกว่าเป็นการใช้วัตถุดิบต่าง ๆ มาเป็น co-solvent กัน (ตัวทำละลายร่วม) เช่น DPG สามารถทำละลายของบางอย่างได้ดี แต่ของบางอย่างก็ทำละลายใน IPM ได้ดีกว่า แต่ DPG และ IPM สามารถทำละลายเข้าหากันได้ดี เป็นการใช้ DPG & IPM เป็นตัวทำละลายร่วม
 
ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องตัวทำละลายและความแม่นยำในการชั่งตวง:
Solutions: Solutions or Problems? By Stephen Dowthwaite https://img.perfumerflavorist.com/…/2016/02/pf.0005.pdf
 
เรียบเรียง: กิจจาศักดิ์ ตริยานนท์
ตรวจทาน: ฉัตรนิธิศวร์ จันทาพูน