You are currently viewing Eau de……

Eau de……

“ความเข้มข้น” ของหัวน้ำหอมในน้ำหอม : เป็นสิ่งที่หลายคนต่างรู้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจว่าทำไม นักปรุงน้ำหอมถึงจำเป็นต้องแบ่งประเภทด้วย ทั้งที่ในความจริง เราอาจเพียงต้องการน้ำหอมที่ “ทน” เท่านั้น จริงหรือ ?

Eau de ….. คือภาษาฝรั่งเศษมีความหมายว่า “น้ำที่มาจาก….” ซึ่งเป็นรูปแบบของน้ำหอม ว่ามีที่มาอย่างไร หรือนิยมใช้ในลักษณะใด และหากกล่าวถึงยุคแรกๆ ของน้ำหอมนั้น จะไม่นิยมผสมสารละลายเพื่อนำมาเจือจาง หรือจะเรียกว่าเป็น Pure Perfume ก็ว่าได้ ซึ่งพบได้มากในน้ำหอมแถบอาหรับ เรียกได้ว่าเป็นชนิดน้ำหอมที่กลิ่นแรงที่สุด ติดทนนานที่สุด และแพงมากที่สุดด้วยเช่นกัน

การผสมสารละลายในน้ำหอมนั้นมีประโยชน์ในเรื่องของการกระจายกลิ่น ยิ่งมีปริมาณของสารละลายมาก น้ำหอมก็จะกระจายตัวได้ดี แต่ก็ต้องแลกกับความติดทน ซึ่งสารละลายส่วนใหญ่ในโลกของน้ำหอมจะนิยมใช้เป็น แอลกอฮอล์เป็นหลัก แต่ก็มีน้ำหอมบางแบรนด์ที่พยามหลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ โดยเลือกใช้สารละลายประเภท oil หรือ ไขจากพืชมาเป็นตัวทำละลายแทน ซึ่งก็มีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไป

การผสมสารละลายนอกจจากจะช่วยในเรื่องของการกระจายกลิ่นแล้ว ยังสามารถทำให้รูปแบบของกลิ่นเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาทำให้เกิด Top note, Middle note และ Base note ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งกลายเป็นศิลปะในศาสตร์ของสุคนธกร (นักปรุงน้ำหอม) ที่สามารถเล่าเรื่องในกลิ่นได้ และยังเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนที่ไม่ชอบกลิ่นที่รุนแรงของ Pure Perfume หันมาสนใจน้ำหอมมากขึ้น

ความเข้มข้นของน้ำหอมถูกแบ่งออกเป็น 4 ระดับหลักๆ ดังนี้
1.Extrait or Perfume มีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์อยู่ที่ 20-40% เป็นน้ำหอมระดับที่ติดทนนานที่สุดข้ามวันข้ามคืน มีกลิ่นแน่นที่สุดชนิดที่เรียกว่าอาบน้ำไป 3 รอบ ก็ยังได้กลิ่นอยู่ แต่การกระจายตัวก็ต่ำที่สุดถ้าเทียบกับประเภทน้ำหอมอื่นๆ ที่มีกลิ่นเดียวกัน

2.Eau de Parfume (EdP) มีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์อยู่ที่ 15-20% มีการกระจายตัวได้ดีกว่าน้ำหอมระดับ Extrait มีเนื้อกลิ่นที่ไม่หนาเท่าแต่ก็แลกกับความติดทนที่น้อยลง 6-8 ชั่วโมง แล้วแต่ประเภทกลิ่นของน้ำหอม

3.Eau de Toilette (EdT) มีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์อยู่ที่ 8-15% มีความติดทนบนผิวอยู่ที่ประมาณ 4-6 ชั่วโมง และกระจายตัวได้ดีกว่า EdP น้ำหอมระดับนี้ถ้าแปลตรงตัวเป็นภาษาไทยคือ “น้ำที่มาจากห้องน้ำ” ซึ่งก็ถือว่าเป็นมุกตลกหนึ่งที่ต่างประเทศเล่ากัน แต่ที่มาของชื่อนั้นมาจากในสมัยก่อน EdT มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ชายและการตั้งชื่อก็มาจากพฤติกรรมของผู้ชายที่ชอบเก็บอุปกรณ์โกนหนวด เครื่องประทินผิว และอื่นๆ ซึ่งน้ำหอมก็เป็นหนึ่งในนั้น เอาไว้ในห้องน้ำนั่นเอง

4.Eeu de Cologne (EdC) มีความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์อยู่ที่ 1-8% มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมันจากเหตุการณ์โรคระบาดในปีคริสศักราช 1700 ซึ่งการรักษาโรคระบาดในสมัยนั้นล้วนแต่มีการใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในตัวยาเกือบทั้งหมด และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Johann Maria Farina เริ่มต้นผลิตน้ำหอมกลิ่นอ่อนๆ ระดับ EdC เป็นครั้งแรก และและโด่งดังไปทั่วโลกในเวลาต่อมา ดังนั้นคำว่า Eeu de Cologne จึงมีความหมายว่า “น้ำที่มาจากเมืองโคโลญจน์” ซึ่งส่วนใหญ่น้ำหอมระดับนี้จะมีคาแรคเตอร์ชัดเจนให้ความรู้สึกเย็น และสดชื่น ซึ่งแตกต่างจากน้ำหอมระดับอื่นๆ แต่ข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดของน้ำหอมระดับนี้คือ ความติดทนที่ต่ำมากเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

ดังนั้นเพื่อให้เหมาะกับความชื่นชอบและวัตถุประสงค์ หากใครที่อยากใช้น้ำหอมที่มีความติดทนนานๆ ให้กลิ่นที่ชัดเจนอย่างเวลาไปเที่ยวกลางคืน ต้องการสร้างความ IMPACT แน่นๆ ก็อาจจะเลือกใช้น้ำหอมในระดับ Extrait หรือ EdP …แต่ในขณะเดียวกันถ้าการที่เราอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ได้ออกไปไหนมากนักหรืออยู่ในออฟฟิส การเลือกใช้น้ำหอมในระดับ EdT หรือ EdC ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเพราะให้กลิ่นที่โปร่งกว่ามาก ไม่ทำร้ายคนรอบตัวมากนัก เป็นต้น

**ปอลิงจั๊กๆ …..ถ้ากังวลว่าน้ำหอมที่ใช้จะไม่ติดทน ก็เพียงพกสเปรย์แยก หรือแบ่งใส่ขวดเล็กๆ ติดตัวไปสเปรย์ระหว่างวัน จะดีกว่าที่จะเลือกใช้แต่น้ำหอมที่มีความเข้มข้นสูงๆ จนกลิ่นไม่เข้ากับตัวเองพาลจะส่งกลิ่นฉุนจนไปทำร้ายคนรอบตัว